วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทดลองขับ ALL NEW MAZDA 3 (ตอนที่2)

Pic_182385
ทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพการวิ่งทางไกลเต็มรูปแบบบนตัวรถ New Mazda 3 2011 ครั้งแรกในประเทศไทย...

บริษัท Mazda Sale Thailand Co.Ltd เชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์ร่วมทำการทดสอบการขับขี่รถ New Mazda 3 เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร โดยใช้เส้นทางกรุงเทพฯ จากหน้าโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค มุ่งหน้า - ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เชื่อมต่อถนนวงแหวนตะวันออก - วังน้อย - ฟาร์มโชคชัย - เขื่อนลำพระเพลิง - วังน้ำเขียว - กบินทร์บุรี รวมระยะทางในช่วงทดสอบของวันแรกกว่า 350 กิโลเมตร โดยใช้รถ New Mazda 3 รุ่นแฮตช์แบค 5 ประตู 10 คัน รุ่นซีดาน 4 ประตู 10 คัน พร้อมด้วยรถทีมงานและรถนำขบวนอีก 9 คัน ในการทดสอบที่นับได้ว่าเป็นการขับขี่ทดสอบรถรุ่น 3 เวอร์ชั่น 2 ครั้งแรกในประเทศไทย
10.30 น. วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2554 หลังจากฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ภายใน สมรรถนะของตัวรถตลอดจนการกำหนดเส้นทางของทีม PR จาก Mazda และวิศวกรชาวญี่ปุ่นจากสำนักงานใหญ่ในเมืองฮิโรชิมาที่บินตรงมาคอยดูแลและ คอยให้ข้อมูลรายละเอียดของตัวรถเรียบร้อยแล้ว ขบวนรถทดสอบทั้ง 29 คัน รวมจักรยานยนต์ BMW K1200 GT ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้นำขบวนอีก 2 คัน ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ฟาร์มโชคชัย ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นจุดแวะพักจุดแรกของการขับทดสอบทางไกลในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทีม PR ของ Mazda จัดรถ New Mazda 3 รุ่นตัวถังซีดาน 4 ประตู สีขาวสะอาดตาให้ผมกับคุณกานต์ รัชชะกิตติ ผู้จัดรายการวิทยุ Auto Media FM-Pick-up FM-Autobike FM ได้ทำการขับขี่ทดสอบสมรรถนะในช่วงแรกกับระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ฟาร์มโชคชัย โดยผมรับหน้าที่ไม้แรกในการควบเจ้า 3 รุ่นใหม่ล่าสุดที่กำลังร้อนแรงอยู่ในตลาดรถยนต์นั่งขนาด Sub-Compact จากค่าย Zoom Zoom ของประเทศไทย
ตำแหน่งของการนั่งขับขี่บนตัวเบาะกับพวงมาลัยของเจ้า New Mazda 3 สามารถปรับได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมทุกสัดส่วนของผู้ขับขี่ ทัศนวิสัยมุมมองโปร่งโล่งรอบคันจากกระจกบานหน้า รวมถึงกระจกประตูทั้งสี่บานกับกระจกหลังที่ยังไม่ได้มีการติดฟิมส์กรองแสง ใดๆทั้งสิ้น ทำให้มุมมองรอบคันไม่มีอะไรมาคอยบดบังการมองเห็นในระยะไกลซึ่งจำเป็นมาก สำหรับการขับทดสอบแบบวิ่งตามติดกันมาเป็นขบวนด้วยความเร็วสูง ผมลองกดคันเร่งแบบเต็มๆหลังจากจ่ายเงินค่าผ่านทางด่วนรามอินทรา อาจณรงค์ ตามคำแนะนำของวิศวกรชาวญี่ปุ่นเพื่อดูอัตราเร่ง เสียงเครื่องยนต์ MZR ปริมาตรความจุ 2.0 ลิตร ครางกระหึ่มขึ้นทันทีที่คันเร่งไฟฟ้าถูกกระตุ้นโดยฝ่าเท้า พร้อมกับการพุ่งทะยานด้วยความมั่นคงของตัวรถ ในระดับความเร็วเดินทางที่ 140 กิโลเมตร รถ New Mazda 3 ใช้รอบเครื่องยนต์ประมาณ 3,200 รอบต่อนาที และเพิ่มขึ้นเป็น 4,200-4,700 รอบต่อนาที เมื่อความเร็วทะลุเกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการวิ่งแบบเรื่อยๆมาเรียงๆที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ทวินแคม 16 วาล์ว รหัส MZR ซึ่งมีระบบวาล์วแปรผัน SVT-VSi ให้ใช้งานสามารถใช้รอบต่ำเพียงแค่ 2,700 รอบต่อนาที เป็นไปตามลักษณะของเครื่อง 2.0 ลิตรรุ่นใหม่ของ Mazda ที่เน้นการประหยัดเชื้อเพลิงและคายมลพิษต่ำ ย่านของกำลังในรอบต้นของเครื่อง MZR ตัวนี้ถูกปรับตั้งมาจากโรงงานให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ไม่กระโชกโฮกฮากพุ่งทะยานเหมือนกับ Ford Focus TDCi เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ญาติผู้พี่ที่มีราคาค่าตัวแพงกว่า 1 แสนบาท
ความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ในระหว่างการขับบนทางด่วนรามอินทรา-เชื่อม ต่อเส้นทางวงแหวนตะวันออกที่ 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถยังคงมีอาการมั่นคงดี แต่ผมไม่กล้ากดไปถึงตัวเลข 206 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่เคลมไว้ เนื่องจากเรื่องของความปลอดภัย การหน่วงน้ำหนักของพวงมาลัยไฟฟ้าแบบ EHPAS - Electro-Hydraulic Power Assisted Steering เป็นไปตามกลไกของย่านความเร็วซึ่งทำให้รู้สึกได้ถึงการเชื่อมโยงกัน ระหว่างพวงมาลัยกับพื้นผิวถนนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพของการยึดเกาะ ช่วงล่างที่ขึ้นชื่อของค่าย Zoom Zoom ยังแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะที่โดดเด่นไม่เป็นรองรถค่ายใด และให้ความรู้สึกที่เป็นกลางในการขับเข้าโค้งยาวๆ ชุดพวงมาลัยของเจ้า New Mazda 3 จับได้กระชับมือจากหนังแท้ที่ใช้หุ้ม ซึ่งมีการตัดเย็บเดินตะเข็บด้ายด้วยความปราณีต สวิตช์เปลี่ยนเกียร์บนพวงมาลัยมีรูปแบบที่ใช้งานได้ง่าย โดยใช้แป้นและสวิตช์ในการปรับเปลี่ยนอัตราทดขึ้น-ลง ให้ความสะดวกและคล่องแคล่วว่องไวจากการออกแบบตำแหน่งของสวิตช์กับแป้น เปลี่ยนเกียร์หลังวงพวงมาลัย

เบาะทรงสปอร์ตนั่งได้กระชับพอดีตัว แม้ผมจะปรับตำแหน่งความสูงของตัวเบาะให้ลงต่ำสุดก็ยังคงนั่งและมองเห็นได้ อย่างสบาย ทางโค้งแคบๆลึกๆ กับการหมุนพวงมาลัยเข้า-ออกจากโค้งบนภูเขาให้ความรู้สึกที่ดีกว่ารถญี่ปุ่น ที่มีระดับราคาใกล้เคียงกัน New Mazda 3 ทรงตัวบนทางโค้งได้ดีเยี่ยมจากตำแหน่งของการวางเครื่องยนต์และการกระจาย น้ำหนัก เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรที่มีชุดเกียร์ 5 สปีดพ่วงอยู่ถูกวางให้ร่นเข้าไปชิดกับห้องโดยสารมากขึ้น ส่งผลไปถึงความรู้สึกที่ให้ความเสถียรมากกว่ารถคู่แข่ง ใกล้เคียง Ford Focus TDCi ญาติที่ทำตัวเหินห่างของ Mazda 3 ในด้านประสิทธิภาพของระบบรองรับ แชสซีส์ รวมถึงการควบคุมในทุกระดับความเร็ว

12.15 น. ขบวนรถทดสอบ New Mazda 3 ทั้งหมด 29 คัน จอดพักทานอาหารเที่ยงที่ฟาร์มโชคชัย หลังจากนั้นผมจึงทำการสลับสับเปลี่ยนตัวรถจากรุ่นซีดาน 4 ประตูสีขาว Arctic White (A4D) ไปเป็นรุ่นแฮตช์แบค 5 ประตู สีเงิน Highlight Silver Matallic (18G) ตามโปรแกรมการทดสอบที่กำหนดโดยทีม PR ของ Mazda ซึ่งต้องการให้สื่อมวลชนขับกันแบบครบๆทั้งรุ่น 4 และ 5 ประตู เริ่มต้นการทดสอบในช่วงที่ 2 โดยใช้เส้นทางฟาร์มโชคชัย-เขาใหญ่-เขื่อนลำพระเพลิง ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตรบนเส้นทางที่คดเคี้ยวเต็มไปด้วยทางขึ้น-ลงเนินเขาเตี้ยๆที่ไม่สูง ชันเท่าใดนักแต่มีทางโค้งวกไป-วนมานับสิบโค้ง ซึ่งมีทั้งโค้งยาวขึ้น-ลงเนิน โค้งแคบหักศอกหรือโค้งรูปตัวเอส การทดสอบในช่วงนี้ทีมสื่อมวลชนทั้งหมดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นทางลาดยางแคบๆ สองเลนสวนกันและมีรถบรรทุก 10 ล้อกับรถปิกอัพเจ้าถิ่นขับสวนไปมาอยู่ตลอดเวลา เส้นทางในช่วงทดสอบที่สองนี้นี้เองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่นำขบวน ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อคอยอำนวยความสะดวกในการกันเส้นทาง หรือแม้แต่บล็อครถยนต์คันอื่นๆ ที่อาจวิ่งแทรกเข้ามากลางขบวน ฝีมือในการควบคุมรถจักรยานยนต์ BMW K1200 GT ของตำรวจทั้ง 2 นายต้องขอบอกว่าสุดยอดมาก ทำให้รถทดสอบทั้งหมดสามารถใช้ความเร็วในระดับที่มากกว่าการขับขี่แบบปกติ แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด

อาการที่เป็นกลางของตัวรถ Mazda 3 ในระหว่างพุ่งตัวเข้าออกจากโค้งบนเส้นทางเขาใหญ่ ปากช่อง นครราชสีมา คือความเพียรพยายามของวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่ดูแลรับผิดชอบด้านโครงสร้างกับ ระบบกันสะเทือน ซึ่งทำออกมาได้ดีสมกับการรอคอยสำหรับตัวรถรุ่น 3 เวอร์ชั่นที่ 2 แซสซีส์และยางส่งประกายงาน Dynamic ด้านกลไกของการรองรับรวมถึงการยึดเกาะในระดับดีเยี่ยม ยาง TOYO Tire รุ่น Proxes R32 เหมาะมากกับไซส์ของตัวถังและน้ำหนักตันกว่าๆของ Mazda 3 New Version มันทั้งเงียบและนุ่มนวลแถมยังไม่มีอาการแถหรือปัดให้เห็นแม้แต่น้อย เมื่อเจอกับกรวดทรายบริเวณกลางโค้งจากการทำถนนของกรมทางหลวง ซึ่งขบวนรถทดสอบทั้งหมดต้องวิ่งผ่านเป็นช่วงๆตลอดระยะทางช่วงทดสอบที่สอง ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 5 สปีดแบบ Active Matic สามารถปรับการทำงานได้ถึง 3 ระดับคือ
1) One Time Manual Mode สามารถใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์แบบ Direct Mode ระบบจะเข้าสู่การทำงานปกติแบบอัตโมมัติ สามารถใช้แป้นเปลี่ยนเกียร์ที่บริเวณหลังพวงมาลัยเพื่อทำการปรับอัตราทด ขึ้น-ลงด้วยความรวดเร็ว
2)  Active Matic การควบคุมการเปลี่ยนอัตราทดแบบเกียร์ธรรมดา เพิ่มเติมอารมณ์การขับขี่ในลักษณะสปอร์ตเต็มรูปแบบ เหมาะสำหรับทางขึ้น-ลงเขาหรือเส้นทางที่อุดมไปด้วยโค้งที่ต้องใช้ Engine Break อยู่ตลอดเวลาแบบเส้นทางเขาใหญ่ ปากช่อง นครราชสีมา วังน้ำเขียว
3) Full Auto รูปแบบของการใช้งานบนระบบส่งกำลังแบบปกติทั่วไป ECU สมองกลไฟฟ้าในกล่องควบคุมเกียร์ จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนอัตราทดขึ้น-ลงไปตามระดับความเร็วอย่างชาญฉลาด ให้ความสะดวกสบายในการขับขี่ใช้งานบนเส้นทางปกติทั่วไป ทั้งการขับขี่ในเมืองหรือการเดินทางไกล
ไม่มีข้อสงสัยเลยแม้แต่น้อยว่าทำไมผู้คนแถบนี้ถึงเรียกที่นี่ว่าวังน้ำ เขียว ถนนสองเลนสวนสายหลักทอดตัวคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาที่มีทะเลสาบรายล้อมกับทุ่ง หญ้าแห้งๆ สีน้ำตาลสลับกับสีเขียวของแนวต้นไม้ใหญ่อยู่ทั่วไป วังน้ำเขียวเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ที่มาของชื่อ "วังน้ำเขียว" นั้นได้มาจากสภาพภูมิประเทศของที่นี่ เพราะพื้นที่ในแถบนี้มีวังน้ำที่ใสงดงามเป็นธรรมชาติ น้ำในช่วงต้นฤดูหนาวใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้ชาวบ้านแถบนี้จึง เรียกพื้นที่นี้ว่าวังน้ำเขียวนั่นเอง

14.15 น. ขบวนรถทดสอบ New Mazda 3 เลี้ยวเข้าจอดยังจุดแวะพักที่ 2 เพื่อพักดื่มกาแฟ แล้วออกเดินทางต่อในช่วงสุดท้ายของเส้นทางทดสอบในวันแรกกับระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อเข้าเช็คอินที่โรงแรมในตัวอำเภอกบินทร์บุรี เส้นทางข้างหน้าที่ต้องขับลงเขาเป็นหน้าที่ของคุณกานต์ รัชชะกิตติ ผู้จัดรายการวิทยุ Auto Media FM / Pick-up FM / Autobike FM ส่วนผมย้ายไปตำแหน่งข้างคนขับเพื่อนั่งจับอาการของเจ้า 3 ตัวใหม่ พร้อมกับถ่ายรูปเพื่อใช้ประกอบในการทดสอบครั้งนี้ iPad 2 ที่ทีม PR Mazda เตรียมไว้ให้ในรถทุกคันไม่มีโอกาสได้หยิบออกมาใช้งาน รวมถึงขนมและน้ำดื่มสารพัดชนิดในถุงเก็บความเย็นที่แสดงให้เห็นถึงความเอาใจ ใส่ต่อสื่อมวลชนของทีม PR Mazda ได้เป็นอย่างดี
เส้นทางหมายเลข 304 บางช่วงถูกกัดกร่อนโดยสภาพดินฟ้าอากาศที่ต้องผจญกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นประจำทุกปี แต่โดยรวมแล้วมันคือเส้นทางที่เต็มไปด้วยวิวทิวทัศน์ที่งดงาม คุณกานต์ รัชชะกิตติ หรือน้องกบเริ่มแสดงฝีมือในการควบคุมเจ้า 3 ตัวใหม่ที่มีคาแรคเตอร์รถสปอร์ตแฝงอยู่ และใช้ความเร็วอย่างเต็มที่ในการขับเข้าโค้ง ผมจึงแนะนำให้ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าแล้วค่อยกดคันเร่งเติมเข้าไปช่วงก่อน ถึงหัวโค้งเพื่อดูการยึดเกาะและการถ่ายเทมวลของตัวรถ คุณกานต์ ที่ผ่านการอบรมการขับขี่ควบคุมในสนามแข่งอัดเจ้า Mazda 3 ตัวแฮตช์แบค 5 ประตูสีเงินอย่างไม่ยั้งมือ ฝีมือในการควบคุมรถของน้องคนนี้นับได้ว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยม และผลักดันรีดเค้นเจ้า 3 ตัวใหม่ให้เข้าไปใกล้กับจุดสูงสุดของสมรรถนะได้อย่างเหลือเชื่อ แรงบิดทั้งหมดถูกดึงออกมาใช้เป็นช่วงๆ และทำให้ผมรู้สึกถึงกำลังของม้าทั้ง 146 ตัว ความแม่นยำของพวงมาลัยที่ทำงานประสานไปกับช่วงล่าง รวมถึงการเบรคอย่างเต็มกำลังเมื่อหน้ารถกำลังพุ่งทะยานเข้าหาท้ายรถคันหน้า บนเเส้นทางลงเขาชันๆ พร้อมป้ายเตือนถึงโค้งอันตรายข้างหน้าอีกเพียบที่จะต้องพบเจอ อัตราทดเกียร์จากโหมดปกติ Full Auto ที่ผมใช้ขับมาเกือบตลอดในช่วงเช้าถูกปรับเป็น Active Matic โดยการยัดเกียร์ขึ้น-ลงด้วยตัวเองของน้องกบเองชนิดมือเป็นระวิง

หลังจากผ่านทางลงเขาพร้อมด้วยโค้งโหดๆที่อุดมไปด้วยรถ 10 ล้อ กับกลิ่นยางและเบรคที่ร้อนจนแทบไหม้ ขบวนรถทดสอบทั้งหมดก็วิ่งเข้าสู่ทางหลวงจังหวัด 4 เลนมุ่งหน้าอำเภอกบินทร์บุรี พร้อมกับสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะ แต่ไม่สร้างปัญหาให้กับยาง TOYO Tire เนื้อนุ่มแต่อย่างใดทั้งสิ้น จนมาถึงโรงแรมในเวลาประมาณ 16.50 น.

สรุปสมรรถนะโดยภาพรวมของ New Mazda 3 เป็นรถยนต์ 4 ที่นั่งแบบ Sub-Compact ที่มีประสิทธิภาพเกินราคาค่าตัวล้านนิดๆ ของมัน สภาพการขับขี่ทั้งตัวซีดาน 4 ประตูหรือแฮตช์แบค 5 ประตู แทบไม่แตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย การเก็บเสียงในย่านความเร็วสูงทำได้ดีในระดับหนึ่งด้วยยางเนื้อนิ่มของ  TOYO Tire ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Yokohama dB เบรคดีแต่ระยะแป้นเบรคลึกไปนิด พวงมาลัยให้ความรู้สึกถึงการยึดเกาะ คมและไวถึงแม้จะเป็นพวงมาลัยไฟฟ้า EHPAS - Electro-Hydraulic Power Assisted Steering ระบบส่งกำลังที่มีโหมดให้ใช้งานถึง 3 โหมด ครอบคลุมการขับขี่ในทุกรูปแบบและทุกเส้นทาง สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือภายในห้องโดยสารที่จัดวางอุปกรณ์ โดยมีตำแหน่งคนขับเป็นจุดศูนย์กลาง วัสดุอุปกรณ์ถึงแม้จะไม่หรูหราเท่ากับรถยนต์จากยุโรป แต่มีรูปแบบและสีสันพร้อมการจัดวางตำแหน่งที่โดนใจพวกบ้าขับรถอย่างผมไป เต็มๆ ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงวัดอะไรไม่ได้เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้น-ลง เขาตลอดช่วง รถทดสอบแต่ละคันกดกันมาเต็มๆ จนไม่สามารถวัดได้ แต่ตัวเลขที่วิศวกรเคลมมาก็อยู่ในระดับที่ประหยัดใช้ได้ประมาณ 16 กิโลเมตรต่อลิตรหากไม่ใช้คันเร่งกันอย่างฟุ่มเฟือย
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนใดบนโลกใบนี้คุณก็จะได้พบกับเจ้า 3 รูปทรงแบบนี้ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเซีย ตะวันออกกลาง มันคือตัวเดียวรูปแบบเดียวที่ออกแบบมาเพื่อการขับขี่อย่างแท้จริง มันเงียบ นั่งสบาย รวดเร็วและคล่องแคล่วว่องไว มีรูปทรงภายนอกที่โดดเด่น ผมขับแค่ออกจากโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ก็หลงรักมันอย่างทันทีทันใด ปุ่มควบคุมทุกปุ่ม ที่จับประตู หนังหุ้มเบาะที่ใช้การตัดเข็บอย่างปราณีต รูปทรงแบบสปอร์ตของตัวเบาะที่นั่งแล้วรู้สึกกระชับตัว ก้านไฟเลี้ยว หน้าปัดทรงกระบอกพร้อมด้วยแสงสีที่งดงามในตอนกลางคืน ทุกสิ่งทุกอย่างสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบ บนงานประกอบที่ดีจนไม่มีอะไรที่เสียดสีกันจนเกิดเสียงดัง พร้อมกับจิตใจที่โอนเอียงชื่นชอบรถยนต์ยี่ห้อนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการที่เคยได้ขับขี่ใช้งานเจ้า Mazda Astina เวอร์ชั่น 2 ในช่วงปี 1996-1999 เห็นได้อย่างชัดแจ้งแดงแจ๋ว่าค่าย Zoom Zoom กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและมั่นคงจากผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ใช้ภาพ ลักษณ์ของรถยนต์แบบสปอร์ตที่ขับได้สนุกสนานมันส์ในอารมณ์มาเป็นจุดขาย สิ่งที่น่าผิดหวังของ Mazda 3 ใหม่มีเพียงแค่สิ่งเดียวคือ มันออกมาขายช้าไปนิดนั่นเอง.
Mazda 3 Version 2011 Specification
แบบ......................................ซีดาน 4 ประตู + แฮตช์แบค 5 ประตู
ผู้ผลิต....................................Mazda Japan
เครื่องยนต์............................MZR ดับเบิ้ลโอเวอร์เฮตแคมชาร์ป (DOHC) 4 กระบอกสูบ
ลักษณะการวางเครื่องยนต์....เครื่องยนต์วางตามขวางด้านหน้า-ขับเคลื่อนล้อหน้า
วาล์ว......................................4 วาล์วต่อสูบ = 16 วาล์ว
ปริมาตรความจุ......................1,999 ซีซี.
อัตราส่วนกำลังอัด..................10.0:1
กระบอกสูบ x ช่วงชัก................87.5 มิลลิเมตร x 83.1 มิลลิเมตร
แรงม้าสูงสุด............................147 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที
แรงบิดสูงสุด...........................182 นิวตันเมตร (18.6 กิโลกรัม/เมตร)ที่ 4,000 รอบต่อนาที
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง..................หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์มัลติพอยท์
ความจุถังเชื้อเพลิง..................55 ลิตร
ประเภทเชื้อเพลิง.....................เบนซิน 91 หรือแก๊สโซฮอล์ E20
ระบบส่งกำลัง..........................เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อมโหมดปรับเปลี่ยน 3 รูปแบบ
พวง มาลัย................................แรคแอนด์พีเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงไฟฟ้า EHPAS - Electro-Hydraulic Power Assisted Steering
รัสมีวงเลี้ยว.............................5.2 เมตร

ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้า.................................อิสระ แมคเฟอร์สัน สตรัท โช๊คอัพ สปริง เหล็กกันโคลง
ด้านหลัง.................................อิสระ มัลติลิ้งค์ E-Type โช๊คอัพ สปริง เหล็กกันโคลง
ล้อและยาง.............................อะลูมินัมอัลลอยขนาด 17 นิ้ว ยาง TOYO Tire รุ่น Proxes R32 ไซส์ 205/50/R17 ทั้ง 4 ล้อ

มิติตัวถัง
ความกว้าง..............................1,755 มิลลิเมตร
ความยาว................................รุ่น Maxx 4,580 มิลลิเมตร รุ่น Maxx Sport 4,490 มิลลิเมตร
ความสูง..................................1,470 มิลลิเมตร
น้ำหนัก....................................1,345 กิโลกรัม
ราคา........................................1,064,000 บาท.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น