วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทดลองขับ TOYOTA NEW HILUX VIGO ตอนที่1

Pic_192734
รีวิว ภายนอก ภายใน เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบส่งกำลัง ระบบขับเคลื่อน ระบบความปลอดภัย Toyota New Hilux Vigo Prerunner Double Cab 3.0 G...

ประวัติ ศาสตร์ความเป็นมาของบริษัท Toyota ต้องย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ. 1929 ซึ่งเป็นปีที่ Mr. Sakich Toyoda เจ้าของโรงงานผลิตเครื่องทอผ้า Toyoda Automaticloom Works ได้ขายสิทธิบัตรการผลิตเครื่องทอผ้าให้กับบริษัท Plattbros จากประเทศอังกฤษในราค 100,000 ปอนด์ หลังจากนั้น Mr. Sakich Toyoda จึงได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้กับลูกชายที่ชื่อ Mr.Kichiro Toyoda เพื่อไว้สำหรับเป็นทุนรอนในการก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ สำหรับยนตกรรมรุ่นแรกที่ผลิตจากโรงงานของค่าย Toyota และนำออกจำหน่ายในตลาดรถ เป็นรถยนต์นั่งแบบ 4 ประตู วางเครื่องยนต์ 6 สูบ 65 แรงม้า ใช้แชสซีส์และส่วนประกอบบางชิ้นจากบริษัท Chevrolet ของอเมริกา รถยนต์คันแรกสุดของ Toyota ออกขายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1936 โดยมีกำลังการผลิตเพียง 5 คันต่อวัน อีกหนึ่งปีต่อมา บริษัท Toyota จึงเริ่มลงมือผลิตรถยนต์อย่างจริงจังโดยทำการก่อตั้งบริษัท Toyota Motor Co,ltd ด้วยเงินลงทุน 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเริ่มดำเนินการออกแบบ พัฒนาและผลิตยานยนต์นับจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
Toyota Hilux First Generation 1968-1972

สายพันธุ์รถบรรทุกขนาด เล็กยอดนิยมของ Toyota เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1968 จากความต้องการรถยนต์บรรทุกขนาดกะทัดรัดที่มีความคงทนแข็งแกร่ง สมบุกสมบัน สามารถวิ่งลุยไปในพื้นที่ทุรกันดารทั่วโลกและมีพื้นที่ของกระบะท้ายไว้ บรรทุกสัมภาระต่างๆ รถ Toyota Hilux โมเดลแรกสุด ถือกำเนิดขึ้นในขณะที่บริษัท Toyota กำลังเร่งพัฒนารถยนต์ภายในค่ายให้สามารถออกไปทำตลาดทั่วโลก โดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพ สมรรถนะ รวมถึงราคาค่าตัวและการบริการหลังการขายที่ต่ำกว่ารถยี่ห้ออื่น Toyota Hilux รุ่นแรกสุดถูกออกแบบและพัฒนาที่สำนักงานของ Toyota ในทวีปอเมริกาเหนือจนสามารถออกวิ่งทดสอบได้เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 1968 ตัวรถปิกอัพรุ่นแรกสุดนี้มีการร่วมมือกันระหว่าง Toyota และ Hino Motors มันถูกวางเครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบ ปริมาตรความจุ 1.5 ลิตร ซิงเกิลโอเวอร์เฮตแคมชาร์ฟ 1,490 ซีซี 87 แรงม้าในรุ่นต่ำสุดจนไปถึง 1.9 ลิตร 1,968 ซีซี 108 แรงม้า ในรุ่นสูงสุด ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4 สปีด รูปแบบการวางเครื่องยนต์แบบตามยาวที่ด้านหน้า กับการขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลังผ่านเพลากลางที่เชื่อมต่อกับเกียร์และเฟือง ท้าย
Toyota Hilux Second Generation 1972-1978

จากยอดขายที่ดีใน โมเดลแรกสุด ทำให้ค่าย Toyota ต้องสร้างเจ้ารถปิกอัพพันธุ์แกร่งโมเดลที่สองตามออกมาติดๆ ในปี 1972 พร้อมกับการตกแต่งภายในและภายนอกใหม่หมด จนดูดีขึ้น Toyota Hilux เจเนอเรชันที่สองนี้มีให้เลือกทั้งแบบกระบะช่วงสั้นและช่วงยาว โดยยังคงมุ่งเน้นประสิทธิภาพของการบรรทุก ระบบรองรับด้านหลังแบบแหนบที่เน้นความแข็งแกร่ง ขยายความจุเครื่องยนต์ในรุ่นสูงสุดเป็นขนาด 2.2 ลิตร เพื่อเพิ่มสมรรถนะของแรงบิดรอบต่ำ รถปิกอัพ Toyota Hilux เวอร์ชั่นสองนี้ ใช้เครื่องยนต์เบนซินแถวเรียง 4 กระบอกสูบ ปริมาตรความจุมีตั้งแต่ 1.6 ลิตร 1,587 ซีซี 89 แรงม้า ไปจนถึงรุ่นสูงสุดที่วางเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร 2,189 ซีซี 96 แรงม้า ระบบส่งกำลังใช้เกียร์ธรรมดา 4-5 สปีด
Toyota Hilux Third Generation 1978-1983

เจเนอเรชันที่สามของรถ ปิกอัพตระกูล Hilux ถูกเข็นตามออกมาท่ามกลางสภาวะราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1974-1978 ตัวรถรุ่นที่สามนี้คลอดออกมาในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1978 เพื่อรองรับความต้องการรถบรรทุกเล็กที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก สมรรถนะโดยรวมของมันถูกปรับให้ดีขึ้นกว่ารุ่นแรก รวมถึงแชสซีส์และช่วงล่างก็ยังได้รับการพัฒนาให้สามารถขับเคลื่อนไปในท้อง ถิ่นทุรกันดารได้ดียิ่งขึ้น ประสิทธิภาพของการบรรทุกมีความเชื่อมโยงกับแรงบิดที่วิศวกรออกแบบให้มีใช้ ตั้งแต่ย่านรอบเครื่องต่ำไปจนถึงรอบสูงสุด รถ Toyota Hilux ในโมเดลที่สามนี้ยังมีเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมด้วยระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อเพื่อรองรับการใช้งานที่กว้างขวางมากขึ้น นับได้ว่ามันคือเจเนอเรชันที่สามที่มีเกียร์อัตโนมัติให้เลือก เพื่อเพิ่มเติมความสะดวกยามขับขี่ใช้งาน เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร 89 แรงม้า ไปจนถึงเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.2 ลิตร 62 แรงม้า ระบบเกียร์มีทั้งเกียร์ธรรมดา 4-5 สปีด รวมถึงเกียร์ออโต้ 3 สปีด พร้อมชุดขับเคลื่อน 4 ล้อที่ตามออกมาในช่วงท้ายๆ ประมาณปี ค.ศ. 1982-1983
Toyota Hilux Fourth Generation 1983-1988

เดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1983 บริษัท Toyota ส่งโมเดลที่ 4 ของกระบะยอดนิยมรุ่น Hilux ออกสู่ตลาดรถบรรทุกเล็กทั่วโลกด้วยความมั่นใจ หลังจากรถตระกูลนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขยอดการจำหน่ายทั่วโลกที่เริ่มเหนือกว่ารถปิกอัพคู่แข่งแบบทิ้งกัน จนแทบไม่เห็นฝุ่น เหลี่ยมมุมตัวถังที่แข็งแกร่งของโมเดลที่ 4 ช่วยเสริมสมรรถนะในการลุยของมันให้สูงมากยิ่งขึ้น ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก รวมถึงการติดตั้งระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบให้กับตัวรถโมเดลที่ 4 ที่วางเครื่องยนต์ดีเซล ในสหรัฐอเมริการยังมีรถ  Hilux วางเครื่องยนต์แบบ V6 ให้เลือกเป็นครั้งแรกเพื่อไล่แซงคู่แข่งอย่างบริษัท Nissan ที่กำลังส่งผลิตภัณฑ์รถปิกอัพเล็กออกทำตลาด ประสิทธิภาพในการลุยที่อยู่ในระดับแนวหน้า ทำให้ความนิยมในตัวรถ Toyota Hilux เจเนอเรชันที่ 4 ขึ้นสู่จุดสูงสุดของรถบรรทุกเล็กที่มียอดขายติดอันดับโลก เครื่องยนต์มีให้เลือกมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เครื่อง 1.7 ลิตร 1,626 ซีซี 85 แรงม้า ไปจนถึงเครื่องรหัส 3V-ZE V6 2,958 ซีซี 150 แรงม้า กับแรงบิดล้นๆ ที่ 244 นิวตันเมตร ที่ 2,400 รอบต่อนาที ครอบคลุมทุกสภาวะการใช้งาน
Toyota Hilux Fifth Generation 1991-1997

ขนาดความยาวของกระบะ ท้ายถูกขยายเพ่ิมขึ้นเป็น 3,090 มิลลิเมตร ในโมเดลที่ 5 ของรถปิกอัพตระกูล Hilux  Mighty-X Xtracab SR5 เจเนอเรชันที่ 5 เพื่อเพิ่มเติมสมรรถนะในการบรรทุกรวมถึงการลุยไปในทุกที่บนเส้นทางที่รถส่วน ใหญ่ไม่สามารถไปได้ มันกวาดรางวัล Truck Of The Year ไปตามความคาดหมายด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่ารถปิกอัพยี่ห้ออ่ืน รุ่น Xtracab มีพื้นที่ของห้องโดยสารเพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้โดยสารตอนหลังหรือสัมภาระ เครื่องยนต์มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 1.8 ลิตร 79 แรงม้าไปจนถึงเครื่องยนต์ V6 150 แรงม้า
Toyota Hilux Sixth Generation 1997-2005

Hilux Mighty-X Tiger คือชื่อที่ใช้ในการทำตลาดของโมเดลที่ 6 จากตระกูลรถปิกอัพ Hilux ของ Toyota ซึ่งขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากสายการผลิตทั้งในทวีปอเมริกาใต้และโรงงาน Toyota ในประเทศไทย รถปิกอัพรุ่น Hilux Mighty-X Tiger ยังคงประสิทธิภาพของการบรรทุกเอาไว้เหมือนเดิมโดยมีอุปกรณ์เสริมในห้อง โดยสารที่ใกล้เคียงกับรถเก๋งมากขึ้น เครื่องยนต์มีให้เลือกทั้งแบบเบนซินและดีเซล ขนาด 2.0 ลิตรไปจนถึงขนาด 3.0 ลิตร อัดอากาศด้วยเทอร์โบพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ นับได้ว่าเจ้า Hilux Tiger รุ่นสุงสุดที่วางเครื่อง 3.0 ลิตรดีเซลเทอร์โบเป็นรถปิกอัพที่มีพละกำลังและมีความเร็วปลายอยู่ในอันดับ ต้นๆ ของวงการเลยทีเดียว รูปแบบของตัวถังก็ยังมีให้ลูกค้าเลือกใช้มากมายหลายแบบ เช่น Single cab / Pickup 4WD Wide Extra cab / 4-door utility บนการขับเคลื่อนทั้งแบบ 2 ล้อหลังหรือขับเคลื่อน 4 ล้อ
Toyota Hilux Vigo Seventh Generation 2005-2010

Toyota Hilux Vigo เข้ามาแต่งเติมประวัติศาสตร์การผลิตรถยนต์บรรทุกของค่าย Toyota ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ตัวรถในโมเดลนี้เริ่มเปิดตัวเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2005 โดยใช้ภาพลักษณ์และหน้าตาที่สวยงามของรถปิกอัพ Toyota สไตล์อเมริกันเข้ามาเสริมหล่อ มุมมองของรูปทรงที่ทันสมัยบวกกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่แทบจะไม่แตกต่างไป จากรถเก๋งยุคใหม่ ทำให้ความนิยมและยอดขายพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รถ Toyota Hilux Vigo เติมเต็มประสิทธิภาพของการบรรทุกบนพละกำลังกับอัตราเร่งที่เยี่ยมยอด เครื่องยนต์ของมันสืบสายพันธุ์มาจากรุ่น Hilux Tiger แต่ถูกปรับปรุงให้มีสมรรถนะโดยรวมดีขึ้นทุกด้าน เครื่องยนต์ใหม่มีทั้งแบบเบนซินและดีเซล ระบบส่งกำลังแบบใหม่ ช่วงล่างออกแบบใหม่หมด รวมถึงความลงตัวภายนอกทั้งด้านหน้าและด้านข้างที่ออกแบบได้โดนใจกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้ยอดขายของมันยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของวงการรถปิกอัพทั่วโลก เครื่องยนต์เบนซินมีระบบวาล์วแปรผัน VVT-i ส่วนเครื่องดีเซลใช้ระบบหัวฉีดรุ่นใหม่ล่าสุด D-4D 3.0 ลิตร กับรุ่นพิเศษที่ผลิตในประเทศออสเตรเลียนั่นก็คือรุ่นเครื่องยนต์ 4.0 ลิตร ติดตั้งระบบอัดอากาศแบบ Supercharged DOHC V6 306 แรงม้า (Australia only, TRD edition)
บริษัท Toyota Motor Thailand Co,ltd เริ่มต้นโครงการ IMV ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Innovative InternationalMulti-purpose Vehicle” เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยเป็นการย้ายฐานการผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์จากประเทศญี่ปุ่นมายัง ประเทศไทย ทำการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกจำหน่ายในทุกภูมิภาคทั่วโลก ด้วยเงินลงทุนมหาศาลถึงกว่า 37,000 ล้านบาท รถกระบะ Toyota Hilux Vigo  และรถอเนกประสงค์แบบ SUV- Toyota Fortuner ได้รับการแนะนำสู่ตลาดเมืองไทย และในอีก 113 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม ห้องโดยสารหรูหรากว้างขวาง สมรรถนะเครื่องยนต์ทรงพลัง ประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยม ตลอดจนระบบรองรับที่แข็งแกร่ง ให้ความมั่นใจทุกสภาพการใช้งาน ทนทาน อัตราการดูแลรักษาต่ำ รองรับทุกรูปแบบการใช้งานตั้งแต่กระบะบรรทุก - เอ็กซ์ตร้าแค็บ - สมาร์ทแค็บ - ดับเบิ้ลแค็บ ไปจนถึงรถอเนกประสงค์คันหรู Toyota Fortuner ทำให้เป็นรถยอดนิยม มีลูกค้าครอบครองเป็นเจ้าของรถทั้ง 2 รุ่นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.3 ล้านคัน ครองตำแหน่งแชมป์ยอดขายทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2548- 2553)
Toyota Hilux Vigo และ Toyota Fortuner เป็นผลิตผลที่สำคัญของโครงการ “IMV” หรือ “InnovativeInternational Multi-purpose Vehicle” ของ บริษัท  Toyota Motor Thailand Co,ltd จากจุดเริ่มต้นในปี 2547 จนถึงปัจจุบัน Hilux Vigo และ Fortuner ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพจากลูกค้าทั่วโลก เป็นรถยนต์ยอดนิยม ระดับ World class มียอดจำหน่ายกว่า 2.3 ล้านคัน ครองแชมป์ยอดขาย อันดับ 1 ในประเทศ แชมป์ส่งออก 5 ปีซ้อน และแชมป์ด้านคุณภาพ ด้วยรางวัลมากมาย เช่น JD Power / TAQA Awards และ Car of the Year วันนี้ Toyota ภูมิใจนำเสนออีกพัฒนาการที่ก้าวล้ำของ Hilux Vigo เพื่อรักษาความเป็นยานยนต์ระดับโลกโดยให้ชื่อว่า Hilux Vigo Champ
เมื่อลองพิจารณาดูถึงสัดส่วนและรูปทรงของ New Hilux Vigo รุ่น Prerunner คันที่ใช้ทดสอบขับขี่ก็จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ถึงแม้จะเป็นตัว Minor Change แต่โดยภาพรวมแล้วมันถูกปรับปรุงภาพลักษณ์ของด้านหน้าแบบใหม่หมดจด เพื่อความสดใหม่ในการทำตลาด กระจังหน้า ไฟหน้า สปอยเลอร์หน้า ฝากระโปรง ล้วนแล้วแต่เป็นงานออกแบบล่าสุดที่เชื่อมโยงภาพลักษณ์ของปิกอัพพันธุ์แกร่ง จากอเมริกา มาหลอมรวมกับด้านหน้าของรถปิกอัพที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในประเทศไทย ไฟหน้าแบบใหม่ฮาโลเจน-มัลติรีเฟลกเตอร์ ใช้กรอบโพลิเมอร์ใสโดยมีชุดไฟเลี้ยวอยู่ตรงมุมทั้งสองข้าง กระจังหน้าเป็นชิ้นงานโครเมียมเงาวาวคล้ายกับกระจังหน้าของรถเก๋งในยุค ปัจจุบัน สิ่งที่โดดเด่นมากที่สุดในมุมมองด้านหน้าของเจ้า  New Hilux Vigo คือฝากระโปรงหน้าที่ใช้แนวคมๆเป็นเส้นนำสายตาลากจากแนวกระจกมองข้างไปจนถึง กึ่งกลางของขอบกระจังหน้า เป็นการออกแบบด้านหน้าที่ดูลงตัวและช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับรูปทรงโดยรวม ได้อย่างกลมกลืน ฝาหน้ายังคงมีช่องรับอากาศเข้า เพื่อช่วยระบายความร้อนให้กับชุดอินเตอร์คูลเลอร์เหมือนรุ่นที่แล้ว สปอยเลอร์หน้ามีช่องตะแกรงพลาสติกที่วางตัวอยู่ในระดับต่ำลงมาจากชุดกระจัง โครเมียม กับไฟตัดหมอกทรงกลมบริเวณมุมด้านข้าง สปอยเลอร์หน้ายังสอดรับกับแนวโค้งของซุ้มล้อหน้ากับโป่งล้อขนาดยักษ์ โดยภาพรวมแล้วด้านหน้าของ  New Hilux Vigo มีมิติมุมมองที่ดูดีขึ้นมากเลยทีเดียว
ด้านข้างของตัวถัง   New Hilux Vigo Prerunner Double Cab 4 ประตู ยังคงคล้ายกับรุ่นที่แล้วโดยมีบันไดข้างช่วยเพิ่มเติมความสะดวกในการขึ้น-ลง (เฉพาะรุ่น Prerunner และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ) กระจกมองข้างใช้กรอบโครเมียมสีเงินวาวกับเลนส์ไฟเลี้ยวสีขาว สามารถพับเก็บหรือปรับมุมมองได้ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก บนหลังคายังมีเสาอากาศแบบสั้นที่พับเก็บได้ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ล้ออัลลอยทั้งสี่ใช้ลวดลายใหม่ในการนำเสนอมีขนาด 17 นิ้ว ใส่ยาง Michelin ไซส์ 265/65/R17 ทั้งสี่ล้อสำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อกับรุ่น Prerunner ส่วนรุ่นขับเคลื่อนสองล้อจะลดขนาดของล้อลงมาที่ 16 นิ้ว ใส่ยาง 215/65/R16
บั้นท้ายของ New Hilux Vigo Prerunner Double Cab ยังเหมือนเดิมในทุกมุมมองแต่โดนปรับเปลี่ยนเลนส์ไฟท้ายดีไซน์ใหม่ กันชนท้ายงานโลหะชุบโครเมียม ใช้งานจริงต้องระวังรอยขีดข่วนกันสักนิดแต่ยังดีที่ Toyota หุ้มวัสดุกันกระแทกไว้ด้านบนของกันชนหลังเพื่อป้องกันริ้วรอยจากการใช้งาน กระจกบานหลังมีมิติมุมมองเหมือนรุ่นที่แล้ว ฝาท้ายเปิดออกได้โดยใช้ที่เปิดแบบเดียวกับรุ่นแรก บริเวณกึ่งกลางด้านบนของฝาท้ายยังติดตั้งไฟเบรคดวงที่สามแบบหลอด LED ช่วยทำให้ทัศนวิสัยมุมมองยามใช้เบรคกระจ่างในทุกสภาวะอากาศด้วยไฟเบรคตรง กึ่งกลางฝาท้าย กันชนหลังตรงกลางยังเป็นตำแหน่งของการติดตั้งป้ายทะเบียนที่ออกแบบให้เห็น ได้แต่ไกล
ภายในห้องโดยสารของ New Hilux Vigo Prerunner Double Cab ยังคงไว้ซึ่งพื้นของการใช้สอย เบาะนั่งสบายทั้งตำแหน่งของผู้ขับกับผู้โดยสาร เบาะคู่หน้าหุ้มหนังแท้ (แล้วแต่รุ่น) โดยมีกลไกการปรับเบาะทั้งแบบธรรมดาหรือแบบไฟฟ้า (แล้วแต่รุ่น) ส่วนรุ่นที่สามารถปรับด้วยไฟฟ้าจะทำการปรับตำแหน่งของเบาะคนขับได้ถึง 6 ทิศทาง ครอบคลุมทุกสรีระของผู้ขับ ส่วนเบาะของผู้โดยสารตอนหลังยังพับเก็บเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการขนสัมภาระได้ อีก โดยออกแบบให้มีความลงตัวและความสะดวกสบายยามใช้งาน บานประตูมีกระจกไฟฟ้าขึ้น-ลงอัตโนมัติ พร้อมเซ็นเซอร์ป้องกันการหนีบ Jam Protection ที่เก็บแว่นตา/ไฟส่องแผนที่ออกแบบให้แบนราบไปกับเพดาน
อุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่เจ้าของรถจะต้องมองไปจนกว่าจะขายต่อคือหน้าปัด รถ New Hilux Vigo Prerunner Double Cab ยังคงรูปแบบของหน้าปัดเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น เพียงแต่ปรับเปลี่ยนสีสันภายในให้สามารถอ่านค่าได้อย่างชัดเจน หน้าปัดเรืองแสงแบบ Optiron ดีไซน์ใหม่ ให้ความคมชัดแม้ตอนกลางวันที่แสงแดดจ้าก็ยังสามารถอ่านค่าได้ทุกรายละเอียด วงพวงมาลัยแบบ 4 ก้านคล้ายของเดิม ติดตั้งสวิตช์มัลติฟังก์ชั่นควบคุมการทำงานของระบบเสียงภายในห้องโดยสาร พวงมาลัยสามารถปรับระยะสูง-ต่ำให้เข้ากับสรีระของผู้ขับ ด้านขวามีก้านสวิตช์ควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือ Cruise Control ช่วยรักษาความเร็วรถให้คงที่ยามต้องขับขี่เดินทางไกลบนถนนโล่งๆยาวๆ
คอนโซลกลางเป็นที่อยู่ของช่องแอร์ นาฬิกาแบบดิจิตอลพร้อมจอแสดงผล MID เล็กๆ ที่ใช้แสดงข้อมูลการใช้งานและชุดเครื่องเสียงแบบ 2 DIN รวมถึงปุ่มควบคุมอุณหภูมิภายในห้องโดยสาร ชุดเครื่องเสียง 2 DIN มีช่องใส่ CD / DVD แบบ 1 แผ่น มาพร้อมกับจอระบบสัมผัสหรือ Touch Screen ขนาด 6.1 นิ้วที่ให้ความคมชัดสูง สามารถสั่งงานด้วยการสัมผัสไปยังหน้าจอช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการใช้งาน รองรับได้ทั้งไฟล์แผ่น CD/ MP3/DVD/วิทยุ AM-FM ส่งเสียงที่มีความคมชัดในทุกมิติผ่านลำโพง 6 ตัวที่ติดตั้งในตำแหน่งที่สามารถกระจายเสียงเพลงไปทั่วทั้งห้องโดยสาร พร้อมด้วยระบบเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์แบบ Buletooth เทคโนโลยีการสื่อสารในโลกอนาคตเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยเมื่อต้องใช้ โทรศัพท์ในระหว่างการขับขี่ ใต้ชุดควบคุมอุณหภูมิยังมีช่องเชื่อมต่อ USB และ AUX เพื่อให้เจ้าของสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เล่นเพลงจากภายนอกได้ จอมัลติฟังก์ชั่นในรุ่นสูงสุดยังถูกใช้เป็นจอมอนิเตอร์สำหรับกล้องถอยหลัง เลนส์สีอีกด้วย
เครื่องยนต์ของ New Hilux Vigo Prerunner Double Cab 3.0 G เป็นเครื่องยนต์ดีเซลแถวเรียง 4 กระบอกสูบ รหัส 1 KD-FTV 3.0 ลิตรปริมาตรความจุ 2,982 ซีซี D-4D จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ คอมมอลเรล-ไดเรคอินเจคชั่น มีวาล์ว 16 ตัว ( 4 วาล์วต่อสูบ) พร้อมชุดอัดอากาศเทอร์โบแปรผันกับอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า หรือ 120 กิโลวัตต์ที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิด 343 นิวตันเมตรที่รอบต่ำเพียง 1,400-3,200 รอบต่อนาที ควบคุมด้วยการทำงานของเครื่องยนต์ด้วยกล่องสมองกลไฟฟ้า ECU แบบ 32 บิต ระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ 4 สปีดพร้อมเกียร์ขับเคลื่อน 4ล้อ (เฉพาะรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ) ระบบเบรค ด้านหน้าใช้ดิสเบรคที่มีครีบระบายความร้อน ส่วนเบรคหลังเป็นแบบดรัมเบนคพร้อมกลไกวาล์วปรับแรงดันน้ำมันเบรคอัตโนมัติ LTS And Super LSPV ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบอิสระปีกนกคู่ดับเบิ้ลวิชโบนและคอยล์สปริง ส่วนกันสะเทือนด้านหลังเป็นแบบแหนบซ้อนเพื่อเน้นประสิทธิภาพของการบรรทุก เต็มรูปแบบ มันคือระบบช่วงล่างแบบ Top Platform ที่ได้รับการปรับแก้ให้นิ่มนวลขึ้นเล็กน้อย ระบบความปลอดภัยใช้โครงสร้างนิรภัยแบบ GOA ของ Toyota มีคานประตู คานกันกระแทกด้านข้าง พวงมาลัยแบบยุบตัวได้ เข็มขัดนิรภัย ELR 3 จุดยึด ปรับระดับความสูงต่ำได้ กระจกด้านหน้านิรภัยใช้การอัดซ้อนในขั้นตอนการผลิตพร้อมแถบกรองแสง วาล์วตัดการจ่ายเชื้อเพลิงแบบฉุกเฉิน ถุงลมนิรภัยแบบ Dual SRS Airbag คู่ที่ตำแหน่งคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า ระบบป้องกันล้อล็อค ABS กล้องถอยหลัง กับโครงหลังคาที่ได้รับการบุด้วยวัสดุป้องกันการกระแทก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น